วันอาทิตย์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2557

ประเพณีดำหัวปีใหม่เมือง


การดำหัว ในความหมายทั่วไปของชาวล้านนาไทยนั้นหมายถึงการ "สระผม" แต่ในพิธีกรรม โดยเฉพาะในเทศกาลสงกรานต์ของทุก ๆ ปี หมายถึง การชำระสะสางสิ่งอันเป็นอัปมงคลในชีวิตให้วิปลาสปราดไป ด้วยการใช้น้ำส้มป่อยเป็นเครื่องชำระ  
พิธีกรรมในการดำหัวในเทศกาลสงกรานต์ล้านนา มี 3 กรณี คือ
กรณีแรก ดำหัวตนเอง คือทำพิธีเสกน้ำส้มป่อยด้วยคำที่เป็นศิริมงคล เช่น "สัพพทุกขา สัพพภยา สัพพโรคาวินาสันตุ" แล้วใช้น้ำส้มป่อยลูบศีรษะ
กรณีที่สอง ดำหัวผู้น้อย เช่น ภรรยา บุตร หลาน อันเป็น พิธีกรรมต่อเนื่องจากกรณีแรก คือ ใช้น้ำส้มป่อยลูกศีรษะภรรยา บุตร หลาน หลังจากดำหัวตนเอง หรือการที่ตนเองรับน้ำส้มป่อย (ในกรณีที่สาม) มาลูบศีรษะตนเองเสร็จแล้วสลัดใส่ศีรษะ หรือลูบศีรษะผู้ที่มาดำหัวตนเอง
กรณีที่สาม ดำหัวผู้ใหญ่ เช่น บิดา มารดา ครู อาจารย์ พระเถระ ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นต้น กรณีนี้อาจไปดำหัวด้วยตนเอง บางครั้งอาจพาญาติพี่น้องไปเป็นกลุ่ม หรือไปเป็นคณะโดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพนับถือของชุมชน
การดำหัวในกรณีที่สามนี้ ถือเป็นประเพณีที่สำคัญยิ่ง ถือได้ว่าเป็นประเพณีที่สามารถจรรโลงความสันติสุขให้กับสังคม ได้เป็นอย่างดี การดำหัวผู้ใหญ่ด้วยตนเองอาจจะไม่มีพิธีรีตองมากนัก แต่การดำหัวผู้ใหญ่ที่ต้องไปเป็นหมู่คณะ ย่อมมีกิจกรรมที่ซับซ้อนมากขึ้น ดังจะกล่าวต่อไป
การดำหัวผู้ใหญ่ที่ไปเป็นหมู่คณะ
เมื่อทุกคนไปรวมกลุ่มกันตามที่นัดหมายแล้วจึงเคลื่อนขบวนมีการแห่ แหนด้วยฆ้อง กลอง เป็นที่ครึกครื้นบางแห่งมีการแสดงร่วมขบวนด้วย เช่น การฟ้อนเชิง ฟ้อนดาบ ตีกลองสะบัดชัย ดนตรีประเภท สะล้อ ซึง ฯลฯ ระหว่างทางมีการรดน้ำกันอย่างสนุกสนาน เครื่องที่นำไปดำหัวที่ถือได้ก็ช่วยกันถือไป เช่น สลุงน้ำส้มป่อย ต้นดอก ต้นเทียน พานข้าวตอกดอกไม้ เครื่องที่หนักก็จะใส่แคร่ที่ภาษาล้านนาเรียก "จองอ้อย" หามกันไป
เครื่องดำหัว
สิ่งของต่าง ๆ ที่เอาไปดำหัวนอกจากจะมีน้ำส้มป่อยพานข้าวตอกดอกไม้แล้วยังเครื่องอุปโภค บริโภคไปเป็นเครื่องสักการะ เครื่องอุปโภคที่นิยมกันส่วนใหญ่จะเป็นผ้า เช่น ผ้าขะม้า เสื้อ ผ้าถุง ผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น ส่วนเครื่องบริโภคมักจะเป็นพืชผลทางการเกษตร เช่น ฟัก แฟง แตงโม กระเทียน หัวหอม มะเขือ สิ่งของประเภทผลไม้ตามฤดูกาล เช่น มะปราง มะม่วง มะพร้าว เป็นต้น เครื่องดำหัวต่าง ๆ ดังกล่าวนิยมใส่รวมกันใน "ชองอ้อย" (อ่าน-จองอ้อย)
เครื่องดำหัวบางประเภทอาจมีประโยชน์ใช้สอยน้อย หรือบางประเภทอาจไม่ได้ใช้เลย เพราะหมดสมัยแต่ก็ยังนิยมนำไปดำหัวกันอยู่เพราะถือเป็นเครื่องสักการะที่มี มาแต่โบราณ เช่น
            - ต้นดอก คือพุ่มดอกไม้ที่ประกอบด้วยดอกไม้นานาชนิด
            - ต้นเทียน คือพุ่มเทียน
            - ต้นผึ้ง คือพุ่มขี้ผึ้ง
            - หมากสุ่ม คือพุ่มหมากแห้งที่ประดับด้วยหมากแห้งผ่าซึก
            - หมากเบ็ง คือพุ่มหมากดิบที่ประดับด้วยหมากดิบเป็นลูก ๆ
พิธีกรรมในการดำหัว
เมื่อแห่เครื่องสักการะไปถึงแล้วทุกคน นั่งลงแสดงอาการนอบน้อมโดยสงบและเริ่มพิธีกรรมตาม ขั้นตอน ดังนี้
- ให้มีผู้ถือพานข้าวตอกดอกไม้ สลุงน้ำส้มป่อยและเครื่องสักการะอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ผ้า อย่างละ 1 คน แล้วนั่งคุกเข่าเฉพาะหน้าผู้ใหญ่ที่จะดำหัวท่าน
- หัวหน้าในกลุ่มประณมมือกล่าว คำขอขมา และคำขอพร (ตัวอย่างคำขอขมาและคำขอพร "ในโอกาสที่ปี๋เก๋าได้ล่วงพ้นไปแล้ว ปี๋ใหม่แก้ก็มารอดมาเถิง ผู้ข้าตังหลายก็มาร่ำเปิงเถิงยังอดีตป๋าเวณีอันดีงามมาแต่ก่อน บ่ห่อนละเสียยังศรัทธา จึ่งพากั๋นน้อมนำมายัง ข้าวตอกดอกไม้ไทยวัตถุบริวารทานและน้ำส้มป่อย เพื่อจักมาขอสุมา คารวะหากได้ล่วงล้ำด้วยก๋าย วาจ๋า ใจ๋ ด้วยเจตนาหรือ บ่เจตนาก็ดี ขอท่านจุ่งมีเมตต๋าลดโทษ และขอท่านจุ่งโปรด ปั๋นศีลพรชัยหื้อเป๋นมังคละ แก่ผู้ข้าตังหลายแต่เต๊อะ")
- ประเคนทานข้าตอกดอกไม้ สลุงน้ำส้มป่อยและเครื่องสักการะ
- ผู้ใหญ่รับแล้วใช้มือจุ่มน้ำส้มป่อยลูบศีรษะอาจมีการสลัดน้ำส้มป่อยใส่ผู้ที่มาดำหัวด้วยความเมตตา
- ผู้ใหญ่ให้โอวาทและกล่าวขอบคุณ
- รับพรจบแล้วกล่าวคำว่า "สาธุ" พร้อมกัน
- ตามอัธยาศัย